จ้องมองอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคมากเกินไป เสี่ยงเกิดอาการ ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง

วันที่เผยแพร่ 06 ก.ค. 2563

ศูนย์รักษาตาท็อปเจริญ , กล้ามเนื้อตา , อุปกรณ์อิเล็คโทรนิค , ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง




"ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง"อีกปัญหาหนึ่งที่มีผลกระทบต่อการมองเห็น หลายๆคนเข้าใจผิดกันว่า "ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง"เป็นโรค ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่ แต่เป็นอาการแสดงหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเกิดได้หลายสาเหตุและมีชื่อเรียกโรคที่แตกต่างกันไป ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง นอกจากทำให้มีปัญหาเรื่องการมองเห็นแล้วอาจกระทบต่อบุคลิกภาพอีกด้วย  เมื่อเรากล่าวถึง “กล้ามเนื้อตา” หลายคนเข้าใจกันว่าหมายถึง กล้ามเนื้อที่ทำให้ตากลอกไปมาเท่านั้น แต่ความเป็นจริงกลุ่มกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับดวงตา มี 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 กล้ามเนื้อหนังตาหรือเปลือกตา (Eyelid muscles)      

กลุ่มที่ 2 กล้ามเนื้อภายนอกลูกตา (Extraocular muscles)

กลุ่มที่ 3 กล้ามเนื้อภายในลูกตา (Intraocular muscles)

ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเกิดได้หลายสาเหตุและเกิดได้ทุกวัย โดยในปัจจุบันอาการนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในเด็กเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีอัตราการใช้อุปกรณ์อิเล็คโทรนิคเพิ่มขึ้น เราลองมาทำความเข้าใจกันดูว่า ทำไมการที่เด็กจ้องหน้าจออุปกรณ์อิเล็คโทรนิคเป็นเวลานานจึงก่อให้เกิดอาการภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้ ในการจ้องมองสิ่งต่างๆเช่น ทีวี หรือการชมวิวทิวทัศน์ ใบหน้าและดวงตาของเราจะมองตรงอยู่ในท่าทางที่เป็นธรรมชาติ แต่เมื่อเราใช้อุปกรณ์อิเล็คโทรนิคในระยะใกล้ ท่าทางของเราจะเปลี่ยนไป คือ เมื่อมองในระยะใกล้ เราต้องก้มหน้าลงเล็กน้อย ทำให้ลูกตาทั้ง 2 กลอกเข้าหาบริเวณสันจมูก และเมื่อเราอยู่ในท่าทางนี้นานๆ อาจส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงจากการใช้สายตาในระยะใกล้มากเกินไปนั่นเอง ซึ่งทำให้ตำแหน่งการเคลื่อนที่ของลูกตาเปลี่ยนไป และในบางครั้งอาจก่อให้เกิดตาเหล่ ตาเขร่วมด้วย   สำหรับโรคที่มี “ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง” ที่พบได้บ่อยๆ มีดังนี้

1. Myasthenia Gravis (MG)เป็นโรคภูมิคุ้มกันผิดปกติ ทําให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง กล่าวคือ..กล้ามเนื้อตาที่ใช้ยกเปลือกตา และใช้กลอกตา ส่งผลทำให้ลืมตาไม่ขึ้น เห็นภาพซ้อน ถึงกับตาเหล่ ตาเขได้ ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อหนังตาและกล้ามเนื้อภายนอกลูกตา

2. โทสิส (Ptosis) คือภาวะที่หนังตาตกหรือหย่อนลงมากว่าปกติ กล่าวคือ..คนที่หนังตาข้างหนึ่งตกมากกว่าอีกข้าง มักจะยกคิ้วข้างที่หนังตาตกขึ้นสูงกว่าโดยอัตโนมัติ หากหนังตาตกสองข้างอาจจะชอบเลิกคิ้วยกหน้าผากขึ้น หรือเงยหน้าขึ้นเพื่อช่วยให้หนังตาไม่บังการมองเห็น แต่หากหนังตาตกลงมาจนปิดถึงกลางตาบังรูม่านตา จะไม่สามารถมองเห็นได้เลย ถือเป็นภาวะหนังตาตกที่จำเป็นต้องรักษา

3. Asthenopia หรือ Eye strain อีกชื่อเรียกที่ใช้บ่อยคือ กล้ามเนื้อตาล้า สาเหตุจากกล้ามเนื้อภายนอกลูกตา และกล้ามเนื้อภายในลูกตา กล่าวคือ..เมื่อมองใกล้เป็นเวลานาน จะมีอาการปวดตามองชัดบ้างไม่ชัดบ้าง อาจจะปวดศีรษะร่วมด้วย ส่วนใหญ่มักพบในเด็กหรือวัยรุ่นที่ต้องอ่านหนังสือ จ้องมองอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคหรือเพ่งมองระยะใกล้นานๆ กล้ามเนื้อตาก็จะยิ่งอ่อนแรง ทำให้ตำแหน่งการเคลื่อนที่ของลูกตาเปลี่ยนไป ทำให้ตาเขมากขึ้น และเกิดภาพซ้อนได้ด้วย และอีกกลุ่มที่พบได้คือ กลุ่มที่อายุ 38 ปีขึ้นไป ที่เริ่มมีปัญหาสายตายาวตามอายุ (Presbyopia) ซึ่งกำลังกล้ามเนื้อตาที่ใช้เพ่งมองใกล้อ่อนแรงลงไปตามวัยนั่นเอง

จะเห็นได้ว่า..ทุกโรคเกิดจากความอ่อนแรงของกล้ามเนื้อตาก็จริง แต่เป็นกล้ามเนื้อตาคนละกลุ่ม ซึ่งทำหน้าที่ต่างกัน ในเมื่อที่มาของโรคต่างกัน อาการแสดงของโรคตลอดจนวิธีการรักษา ก็แตกต่างกันด้วย  ดังนี้

1. การใช้ยาสเตียรอยด์หรือยาบางชนิด สามารถช่วยลดอาการกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้

2. ภาวะสายตาผิดปกติ ก็จำเป็นต้องใส่แว่นสายตา แต่หากมีอาการเห็นภาพซ้อน หรือพบอาการตาเหล่ ตาเขร่วมด้วย การใส่แว่นปริซึมก็จะเป็นตัวช่วยในการลดภาพซ้อนได้

3. หากมีภาวะหนังตาตก ทำให้บดบังการมองเห็น การได้รับการผ่าตัดเปลือกตาจะช่วยให้การมองเห็นดีขึ้น

4. การผ่าตัดในกลุ่มที่ต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อขยับตำแหน่งของกล้ามเนื้อตา เพื่อการมองเห็นที่ดีขึ้น 

ดังที่ได้กล่าวมาคงเป็นที่เข้าใจได้ว่า  “ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง” นั้น หากจะให้สื่อสารเป็นที่เข้าใจตรงกันว่าหมายถึงโรคใดกันแน่ ต้องได้ทราบชื่อเฉพาะของโรค ซึ่งหากเป็นโรคที่กล่าวมานี้ ควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์หรือติดต่อศูนย์รักษาตาท็อปเจริญเพื่อทำการรักษาต่อไป